ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีประกาศ ลงวันที่ ๒1 ธันวาคม ๒๕๖๔ เรื่องผลการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านโป่ง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ประกาศให้กระผม สราวุธ ชัยนาม เป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านโป่ง นั้น
เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 7) พ.ศ.๒๕๖๒ มาตรา58/5ซึ่งได้กําหนดให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแถลงนโยบายต่อสภาองค์การบริหารส่วนตำบลก่อนเข้ารับหน้าที่กระผมจึงได้กำหนดนโยบายในการบริหารงานและพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบล สำหรับช่วงระยะเวลา ๔ ปี นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เพื่อดําเนินงานตามอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านโป่งภายใต้ระเบียบและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยยึดถือนโยบายของรัฐบาล ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ.๒๕๖๑-๒๕๘๐) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ (พ.ศ.๒๕๖๐-๒๕๖๔) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) ที่จะประกาศใช้ในปี 2565 นโยบายประเทศไทย 4.0 (Thailand ๔.๐) กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตจังหวัดเชียงราย ยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัด ยุทธศาสตร์การพัฒนาระดับจังหวัด และยุทธศาสตร์การพัฒนาของจังหวัดเชียงราย เป็นหลักในการกําหนดนโยบายการบริหาร และพัฒนาที่สอดคล้องกับปัญหาในเขตพื้นที่ รวมทั้งความต้องการในการพัฒนาทุก ๆ ด้าน โดยมุ่งเน้นการสร้างประโยชน์สุขแก่ประชาชนตำบลบ้านโป่ง พร้อมพัฒนาและปรับปรุงการดําเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ตำบลบ้านโป่งมีภารกิจที่ต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ เพื่อดำเนินการและพัฒนาอยู่มากมาย ดังนั้น ในช่วงเวลา ๔ ปี ต่อไปนี้ กระผมและคณะผู้บริหารจึงได้กําหนดแนวนโยบาย ในการพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านโป่ง เพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนในเขตองค์การบริหาร ส่วนตำบลบ้านโป่ง อยู่ดีมีสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีชุมชนน่าอยู่ ส่งเสริมกิจกรรมทางศาสนาและรักษาประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นอันดีงาม การดำเนินตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชนที่เข้มแข็งและการประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มีการบริหารงานภายใต้วิสัยทัศน์การพัฒนาที่กระผมได้กำหนดไว้คือ “ยึดมั่นหลักธรรมาภิบาล ประสานงานพัฒนา ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข”
เพื่อให้การบริหารงานขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านโป่ง สามารถบรรลุสำเร็จตามเป้าหมายที่ได้กล่าวข้างต้นกระผมและคณะผู้บริหารจึงได้กำหนดนโยบายในการบริหารไว้ ๗ ด้าน คือ
๑. นโยบายเร่งด่วน
2. นโยบายพัฒนาระบบการคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐาน
๓. นโยบายด้านการพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิต
๔. นโยบายการศึกษา ศาสนาประเพณีวัฒนธรรม และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
5. นโยบายปรับปรุงฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในชุมชน
๖. นโยบายการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน
๗. นโยบายการบริหารจัดการที่ดี
โดยมีแนวทางในการพัฒนาตามนโยบายแต่ละด้าน ดังนี้
๑. นโยบายเร่งด่วน
1.1 เพื่อตอบสนองนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ได้แก่ การเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ การส่งเสริมความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
1.2 เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากสาธารณภัย
1.3 เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-๑๙) ในสถานการณ์ปัจจุบัน
1.4 เพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชน การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด และการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ
2. นโยบายพัฒนาระบบการคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐาน
2.1 เพื่อพัฒนาและบํารุงรักษาเส้นทางคมนาคมในพื้นที่อย่างต่อเนื่องและทั่วถึง รวมทั้ง การรักษาความปลอดภัยทางถนน
2.2 เพื่อปรับปรุงถนนเข้าสู่พื้นที่ทางการเกษตรให้มีการคมนาคมสะดวกรวดเร็ว
2.3 เพื่อพัฒนาปรับปรุงอาคารสถานที่สาธารณะประโยชน์
2.4 เพื่อการสร้างและปรับปรุงแหล่งน้ำใช้ในการอุปโภค บริโภค รวมถึงแหล่งน้ำใช้ในการเกษตรอย่างยั่งยืน
2.5 เพื่อขยายเขตไฟฟ้าให้ทั่วถึงทุกครัวเรือน รวมทั้งการติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างให้ครอบคลุมทุกพื้นที่
๓. นโยบายการพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิต
3.1 เพื่อยกระดับให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งด้านการสาธารณสุข และสวัสดิการสังคม รวมทั้งความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยการส่งเสริมความรู้ในการดูแลสุขภาพอนามัย จัดบริการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคเชิงรุกในชุมชน อย่างทั่วถึง
3.2 เพื่อพัฒนาศักยภาพในการปฏิบัติงานด้านการสาธารณสุข สนับสนุนการดําเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการป้องกัน การควบคุม การแพร่และการระงับการระบาดของโรคติดต่อ ส่งเสริมการดูแลอนามัยสิ่งแวดล้อม
3.3 เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาสในชุมชน จัดทําฐานข้อมูลเฉพาะกลุ่มเพื่อพัฒนาบริการ เตรียมความพร้อมสู่สังคมผู้สูงอายุ เร่งรัด การบริการสวัสดิการเบี้ยยังชีพและหลักประกันรายได้ผู้สูงอายุให้บริการและส่งเสริมความรู้ในการดูแลสุขภาพเฉพาะกลุ่ม และการให้ความรู้ด้านสวัสดิการสังคม
3.4 เพื่อการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยพัฒนาระบบปฏิบัติการให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และเหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในชุมชน
3.5 เพื่อพัฒนาส่งเสริมความรู้ในการพัฒนาอาชีพของประชาชนทุกกลุ่ม ส่งเสริมและพัฒนาด้านเกษตร การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้แก่ กลุ่มอาชีพ กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชน
3.6 เพื่อการส่งเสริมและพัฒนาด้านการกีฬาและนันทนาการ
3.7 เพื่อส่งเสริมกิจกรรมของเด็กและเยาวชนตำบลบ้านโป่ง
๔. นโยบายการศึกษา ศาสนาประเพณีวัฒนธรรม และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
4.1 เพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานทางการศึกษาของสถานศึกษา และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในสังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านโป่ง รวมทั้งส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม เสริมสร้างพัฒนาการทางอารมณ์และสังคมผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ นอกห้องเรียนที่หลากหลายและเหมาะสมตามวัย
4.2 เพื่อพัฒนาด้านกิจกรรมทางศาสนา การอนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรม โดยให้ความสําคัญต่อการ จัดงานประเพณีประจําชาติและประเพณีท้องถิ่น รวมทั้ง งานเฉลิมฉลองในโอกาสสําคัญของสถาบันชาติและพระมหากษัตริย์ โดยเน้นการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย ให้เยาวชนได้อนุรักษ์และเรียนรู้ควบคู่กับการส่งเสริมการแสดงศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย
4.3 เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวน้ำพุร้อนทุ่งเทวี ให้ได้คุณภาพมาตรฐาน การอนุรักษ์วิถีการดําเนินชีวิตของชุมชน ส่งเสริมการพัฒนาหมู่บ้านท่องเที่ยว รวมทั้ง พัฒนาเป็นเส้นทางสัญจรของนักท่องเที่ยว สนับสนุนการปรับปรุงภูมิทัศน์ในตำบล
5. นโยบายปรับปรุงฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชน
เพื่อพัฒนาพื้นที่ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านโป่ง สร้างชุมชนสะอาด ประชาชนมีความปลอดภัย สิ่งแวดล้อมปลอดมลพิษ โดยส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการบริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืน การปรับปรุงแหล่งน้ำและระบบระบายน้ำในชุมชนที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขัง ดูแลรักษาคูคลองสาธารณะ โดยส่งเสริมความร่วมมือของชุมชน
นโยบายทั้ง ๕ ด้าน ดังกล่าวข้างต้นจะประสบความสำเร็จ บรรลุผลสำเร็จดังที่กระผมได้ตั้งเป้าหมายไว้ ก็โดยอาศัยนโยบายสำคัญอีก ๒ ประการ ซึ่งถือเป็นรากฐานของการพัฒนาท้องถิ่นร่วมกันระหว่างภาคประชาชนกับ ส่วนราชการในสังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านโป่ง คือ
๖. นโยบายการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน
เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของตนเอง ในการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการปกครองท้องถิ่น โดยการรณรงค์ให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญของการใช้สิทธิในการเลือกตั้งทุกระดับ และการมีส่วนร่วมพัฒนาท้องถิ่นร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบล โดยบูรณาการแผนงาน/โครงการพัฒนาด้านต่างๆ ของชุมชน ร่วมกับแผนพัฒนาท้องถิ่น สนับสนุนการดําเนินกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อท้องถิ่นและประชาชนในชุมชน เสริมสร้างองค์ความรู้และพัฒนาศักยภาพของผู้นําชุมชน การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้แก่ชุมชน ภายใต้แนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้
๗. นโยบายการบริหารจัดการที่ดี
7.1 เพื่อให้ส่วนราชการในสังกัดสามารถดําเนินงานตามนโยบายและจัดบริการสาธารณะ ตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบให้แก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้อง รวดเร็ว ทั่วถึง โปร่งใส คุ้มค่า และตรวจสอบได้ ผ่านศูนย์ข้อมูลข่าวสารองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านโป่ง การสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย และเว็บไซต์ขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านโป่ง
7.2 เพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เชื่อมโยงการบริการข้อมูลข่าวสาร และการร้องเรียนร้องทุกข์ การปรับปรุงฐานข้อมูลด้านต่างๆ ข้อมูลแผนที่ภาษี เพื่อพัฒนาการจัดเก็บรายได้ข้อมูลด้านการช่างและผังเมือง ข้อมูลด้านการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม โดยพัฒนาไปสู่ชุมชนน่าอยู่ทางด้านความปลอดภัยเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน
7.3 เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในการบริหารงานและการปฏิบัติงาน โดยกำหนดนโยบาย/แผนงาน/มาตรการด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลทุกระดับอย่างชัดเจน เพื่อปรับเปลี่ยนหน่วยงานให้ทันสมัยตามนโยบาย ประเทศไทย 4.0 (Thailand ๔.๐) โดยส่งเสริมการฝึกอบรม และการพัฒนาองค์ความรู้ที่จําเป็นสําหรับผู้บริหารและพนักงานทุกระดับ รวมทั้ง การสัมมนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำ แต่การที่จะทำให้นโยบายของกระผมสัมฤทธิ์ผลที่ต้องการนั้น ก็คงต้องอาศัยความร่วมมือ ร่วมใจ จากท่านสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านโป่ง พนักงานส่วนตำบล เจ้าหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลทุกท่าน รวมถึงประชาชนได้ช่วยกันสนับสนุน